วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

จากพม่าสู่มหาชัย ชีวิตแรงงานอพยพบนแผ่นดินพลัดถิ่น

ทุกๆ วันอาทิตย์ มินซอ(นามสมมติ) สาวประเภทสองเชื้อสายมอญจากพม่าวัย 30 ปีจะต้องตื่นแต่เช้า เพื่อเปิดร้านทำผมของตนเองใกล้กับตลาดกุ้ง สถานที่ทำงานและหอพักแรงงานอพยพที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสมุทรสาครหรือมหาชัย ลูกค้าของเธอเป็นแรงงานอพยพจากประพม่า เนื่องจากแรงงานหญิงส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ตามโรงงานซึ่งมีวันหยุดวันอาทิตย์เพียงหนึ่งวัน วันอาทิตย์จึงเป็นวันที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเสริมสวยมากที่สุด และยิ่งหากเป็นช่วงนอกเทศกาลเข้าพรรษาด้วยแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ของเธอก็คือคู่บ่าวสาวแรงงานอพยพ ซึ่งนิยมจัดพิธีแต่งงานกันวันนี้เพื่อให้แขกเหรื่อมาร่วมงานกันอย่างสะดวก บางสัปดาห์อาจมีพิธีแต่งงานพร้อมกันหลายคู่ มินซอจึงต้องถือกระเป๋าเครื่องแต่งหน้าและอุปกรณ์ทำวิ่งรอกจนเหนื่อย เป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้วที่เมืองปากอ่าวแห่งนี้มีแรงงานอพยพจากพม่าเข้ามาทำงานเก็บเงินส่งกลับไปให้ครอบครัว หลายคู่พบรักและแต่งงานกันที่นี่ เด็ก ๆ นับหมื่นชีวิตลืมตาดูโลกครั้งแรกบนแผ่นดินต่างถิ่นผืนนี้
ปัจจุบัน จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวที่ขอขึ้นทะเบียนอนุญาตทำงานไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคน และคาดว่ามีแรงงานหลบหนีเข้าเมืองไม่ได้ขึ้นทะเบียนมากกว่า 6 ถึง 7 เท่า แรงงานเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนสำคัญของเศรษฐกิจการประมงและอุตสาหกรรมของจังหวัดซึ่งมีมูลค่ากว่ากว่าหนึ่งแสนล้านบาทต่อปี บนเส้นทางจากพม่าสู่มหาชัยสายนี้จึงเป็นเส้นทางที่นำพาผู้คนจากดินแดนที่เต็มไปด้วยปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจตกต่ำเข้ามา “ขุดทอง” หากโชคดี หลายคนก็ไปถึงฝั่งฝัน แต่หากโชคร้ายพวกเขาอาจไม่มีโอกาสได้กลับไปเห็นแผ่นดินเกิดอีกครั้ง จากพม่าสู่มหาชัย เมียวมินซอว์เกิดที่เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ ภาคใต้ของประเทศพม่า เขาเดินทางมาทำงานที่มหาชัยเมื่อสี่ปีก่อนจากการชักชวนของนายหน้าซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน ตอนนั้นเขาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา แต่รายได้หลังหักค่าภาษีต่าง ๆ ที่รัฐบาลทหารเรียกเก็บมักไม่ค่อยพอกิน พอได้ยินมาว่า ทำงานเมืองไทยจะได้เงินเยอะกว่าจึงตัดสินใจเดินทางมาพร้อมกับเพื่อนชายอีกสิบคน ตลอดเส้นทางจากอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีถึงมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร) เขาซ่อนตัวอยู่ในรถกระบะ เมื่อผ่านด่านตรวจ นายหน้าจะเป็นคนลงไปเจรจาจ่ายค่าผ่านทาง พอมาถึงมหาชัย เขาก็ถูกส่งขึ้นเรือ โดยนายหน้าเบิกเงินจากเจ้าของเรือไปล่วงหน้า 10,000 บาท อีกสองปีต่อมาเขาจึงได้กลับมาขึ้นฝั่งที่มหาชัยอีกครั้ง การเดินทางจากพม่าสู่มหาชัยของเมียวมินซอว์เป็นเพียงตัวอย่างของการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าการเดินทางจะเสี่ยงหรือค่านายหน้าจะแพงนับหมื่น แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จำนวนแรงงานจากประเทศพม่าที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะที่มหาชัยไม่ได้ลดน้อยลงเลย เหตุผลสำคัญมาจากปัจจัยผลักดันจากประเทศต้นทาง โดยเฉพาะประเทศพม่าก็เพิ่มสูงขึ้นเนื่องมาจากปัญหาการเมืองที่ยึดเยื้อยาวนานได้นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำจนประชาชนไม่สามารถทำมาหากินบนผืนแผ่นดินของตนเองได้ แม้ว่ารัฐมอญจะไม่มีการสู้รบมาเป็นเวลานานนับสิบปี แต่ประชาชนในรัฐมอญก็ยังไม่สามารถทำมาหากินบนแผ่นดินของตนเองได้อย่างสงบสุข เนื่องจากกองทัพพม่าได้เข้ามายึดที่ดินทำกินของชาวบ้านไปเป็นของกองทัพ รวมทั้งเกณฑ์แรงงานชาวบ้านไปทำงานให้กับกองทัพ จนไม่มีเวลาทำมาหากินเลี้ยงปากท้องของตนเองด้วยเหตุนี้ แรงงานส่วนใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาครจึงมีเชื้อสายมอญ รองลงมา คือ ทวาย กะเหรี่ยง และพม่า ที่อาศัยในพื้นที่ภาคใต้ของพม่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองก็ขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตหลายประเภท เนื่องจากแรงงานไทยนิยมทำงาน จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจประมงที่สำคัญของประเทศ ภาคการประมงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่เนื่องจากแรงงานไทยไม่นิยมทำงานในกิจการประมงทะเล และต่อเนื่องจากประมงทะเล เพราะเป็นงานหนักสกปรกและมีกลิ่นเหม็น ระยะเวลาการทำงานไม่แน่นอนมักจ้างเป็นการเหมาหรือจ้างเฉพาะฤดู จึงทำให้มีการเข้าออกงานสูง จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการเหล่านี้ เนื่องจากแรงงานอพยพไม่รังเกียจงานหนักงานสกปรก และมีความอดทน รัฐบาลจึงต้องผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ทำงานในจังหวัดสมุทรสาครมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา แรงงานชายส่วนใหญ่มักถูกส่งไปงานบนเรือประมง เนื่องจากต้องออกทะเลไปไกลนานหลายเดือนหรือหลายปี ส่วนแรงงานหญิงมักส่งไปทำงานตามโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ในช่วงทำงานปีแรก ๆ แรงงานส่วนใหญ่มักไม่มีเงินเหลือพอส่งให้ทางบ้านเนื่องจากถูกนายหน้าเบิกค่าแรงล่วงหน้าจากนายจ้างไปก่อน รวมทั้งไม่มีโอกาสเลือกงานมากนัก เพราะยังไม่คุ้นเคยกับงานและสถานที่ แต่หลังจากเริ่มคุ้นเคยและมีคนรู้จักมากขึ้นก็จะเริ่มเปลี่ยนงานและชักชวนญาติพี่น้องมาทำงานด้วยกัน อัม หญิงสาวชาวมอญวัย 25 ปี เจ้าของร้านตัดเสื้อในตลาดกุ้งเล่าความเป็นมาของการเปิดร้านแห่งนี้ว่า “แม่ของฉันเดินทางมาจากเมืองเย รัฐมอญ ประเทศพม่า ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว มารับจ้างเย็บผ้า แม่ค่อย ๆ เก็บเงินจนซื้อที่ดินและปลูกบ้านที่เมืองเยได้ ฉันเพิ่งตามมามาอยู่ที่นี่เมื่อสามปีก่อน ก่อนหน้านั้นฉันเรียนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยเมาะละแหม่งอยู่ชั้นปี 2 จู่ ๆ มหาวิทยาลัยก็ปิด ฉันไม่มีอะไรทำ เลยมาหาแม่ที่นี่ ช่วยแม่ตัดเสื้อผ้า พอมหาวิทยาลัยเปิดก็เลยไม่ได้กลับไปเรียนอีก เพราะไม่รู้จะถูกปิดอีกเมื่อไหร่ ตอนนี้แม่กลับไปอยู่ที่บ้านฝั่งพม่าแล้ว ฉันจึงดูแลร้านตัดเสื้อที่นี่แทน” อัมค่อย ๆ ขยายกิจการจากร้านตัดเสื้อเป็นร้านขายของชำและร้านเช่าหนังสือ โดยสั่งสินค้ามาจากประเทศพม่าผ่านทางพ่อค้าคนกลางอำเภอสังขละบุรี จึงหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะมีรถมาส่งสินค้าเป็นประจำทุกเดือน สินค้าขายดีประจำร้านคือแป้งทะนาคา เครื่องประทินผิวยอดนิยม นอกจากนั้นยังมีอาหารและของขบเคี้ยว เช่น ปลาร้าจากพม่า หนังสือที่มีให้เช่าแบ่งเป็นนิยายและนิตยสารแฟชั่น อัตราเช่าวันละ 5 บาท ลูกค้าของเธอจะมาใช้บริการกันมากในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดเพียงวันเดียว
ปัจจุบัน ตลาดกุ้ง มีสภาพคล้ายกับ “Little Burma’ หรือ เมืองพม่าเล็ก ๆ เนื่องจากคนส่วนใหญ่และภาษาที่ใช้สื่อสารจะเป็นภาษามอญและพม่า พื้นที่ของตลาดแห่งนี้แบ่งการใช้งานออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ บริเวณแกะกุ้ง ซึ่งจะแยกออกเป็นเจ้าของแพปลาแต่ละราย คนงานจะรอแกะกุ้งที่มาส่งให้เจ้าของแพต่า งๆ หากวันไหนกุ้งเยอะ นั่นหมายความว่างานและเงินก็จะเยอะตามไปด้วย พื้นที่ส่วนที่เหลือของตลาดจะแยกออกเป็นอาคารห้องเช่า และร้านค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า ร้านดอกไม้ (คนนิยมซื้อไปไหว้พระ) ร้านซ่อมวีดีโอ ร้านตัดผม และที่ขาดไม่ได้คือ ร้านขายหมาก และร้านน้ำชา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชาวพม่าหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แม้แรงงานจากพม่าจะเดินทางมาทำงานเมืองไทยนานหลายปี แต่พวกเขาเหล่านี้กลับยังคงดำรงวิถีชีวิตประจำวันตามวัฒนธรรมเดิมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย หลังจากเลิกงานแล้ว ผู้ชายจะนุ่งโสร่ง ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่น ซึ่งโสร่งและซิ่นที่เลือกซื้อมาใส่ก็จะต้องเป็นสไตล์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง เช่น โสร่งของชาวมอญจะนิยมใช้สีแดง ชาวพม่าจะนิยมใช้สีฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ความนิยมกินหมากก็ยังไม่เสื่อมคลาย ทำให้ร้านขายหมากเป็นร้านค้ายอดนิยมที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในตลาดกุ้งแห่งนี้ แต่ร้านใดจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษขึ้นอยู่กับฝีมือการปรุงเลือกวัตถุดิบและการผสมผสานเครื่องปรุงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน หากร้านไหนรถชาดถูกปากคนส่วนใหญ่เช่น ไม่เผ็ดร้อนจนเกินไปก็จะมีลูกค้าแน่นร้าน หนึ่งร้านขายหมากยอดนิยมในตลาดกุ้งให้ข้อมูลว่า ทางร้านสามารถขายหมากราคาคำละบาทอย่างต่ำวันละ 500 คำเลยทีเดียว
ในทุก ๆ เย็นและวันอาทิตย์ที่ตลาดกุ้งแห่งนี้จะคลาคล่ำไปด้วยแรงงานจากพม่าทั้งที่อาศัยอยู่ที่นี่และพื้นที่อื่น ๆ ในมหาชัย พวกชายหนุ่มมักนิยมนุ่งโสร่งหรือกางเกงขาสั้นมาเล่นกีฬาด้วยกัน ทั้งตระกร้อและฟุตบอล ส่วนพวกผู้หญิงจะอุ้มลูกจูงหลานมาช็อปปิ้งอาหารหรือข้าวของเครื่องใช้จากพม่า แม้ว่าระยะทางจากพม่าถึงมหาชัยจะห่างไกลหลายร้อยกิโลเมตร แต่ที่นี่ ทำให้หลายคนรู้สึกคลายเหงาจากอาการคิดถึงบ้านไปได้บ้าง เพราะพวกเขาได้พูดภาษาเดียวกัน นุ่งโสร่งใส่ซิ่นลวดลายเดียวกัน ทาแป้งทะนาคาอยู่บนหน้าโดยไม่ต้องเขินอายหรือรู้สึกแปลกแยกจากคนไทย แรงงานส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า อีกนานเท่าไหร่พวกเขาจะได้กลับบ้านไปใช้ชีวิตอย่างสุขสงบในบ้านเกิดของตนเองอีกครั้ง ทุกคนจึงต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมใหม่ โดยพยายามรักษารากวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองไว้ให้มากที่สุด เพื่อสายใยร้อยรัดให้พวกเขาและเธอได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับพ่อแม่พี่น้องที่ยังอาศัยอยู่บนแผ่นดินประเทศพม่า
วัฒนธรรมเก่าในพื้นที่ใหม่ เด็กหญิงน้ำผึ้ง สาวน้อยหน้าหวานเชื้อสายมอญจากประเทศพม่าวัย 11 ปี ค่อย ๆ บรรจงใส่เครื่องแต่งกายประจำชาติมอญ เสื้อแขนยาวสีขาวติดกระดุมตรงกลางด้านหน้ากับซิ่นสีแดงลาย เพื่อเตรียมตัวไปร่วมงานวันชาติมอญที่ชุมชนแรงงานอพยพในมหาชัยร่วมกันจัดขึ้น แม้เด็กสาวจะเติบโตมาในสังคมไทย แต่สำนึกในชาติพันธุ์มอญยังมีอยู่ปรากฏอยู่ในตัวเธออย่างเต็มเปี่ยม เธอช่วยพ่อแม่ทำอาหารมอญ พูดภาษามอญ และสนใจการร่ายรำตามแบบฉบับชาวมอญ เด็กสาวจึงได้ปรากฏกายร่ายรำในงานประเพณีของชาวมอญที่นี่เสมอ พ่อแม่ของน้ำผึ้งทำงานในโรงงานแกะกุ้ง เธอมีน้องชายคลานตามกันมาอีกสองคน คนหนึ่งอายุ 8 ขวบและอีกคนหนึ่งอายุหนึ่งขวบครึ่ง อีกไม่นานน้องชายคนรองก็คงจะได้กลับไปบวชเณรที่บ้านในรัฐมอญตามประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา แรงงานที่มีบุตรชายส่วนใหญ่จะพาลูกกลับไปบวชที่หมู่บ้านเดิมอย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้บรรดาญาติพี่น้องได้มาร่วมงานกันอย่างเต็มที่ แม้ว่าแรงงานเชื้อสายมอญจะพลัดพรากจากแผ่นดินแม่มานาน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะหลงลืมความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง ตรงกันข้าม ชาวมอญส่วนใหญ่ยังคงพยายามรักษาวัฒนธรรมของตนเองเท่าที่จะทำได้ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ เห็นได้จากการรวมกลุ่มเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมมอญ อาทิ กลุ่มสืบสานวัฒนธรรมมอญ กลุ่มไทย-มอญพัฒนา เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะประกอบกิจกรรมสำคัญตามประเพณีวัฒนธรรมมอญ เช่น วันปีใหม่มอญ วันชาติมอญ และวันสำคัญต่าง ๆ รวมทั้งจัดการเรียนการสอนภาษามอญ การละเล่นและการร่ายรำให้กับคนรุ่นใหม่ในช่วงวันหยุดด้วยเช่นกัน นอกจากกิจกรรมตามประเพณีซึ่งแรงงานชาวมอญให้ความสำคัญแล้ว การสืบทอดพิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมก็ยังมีปรากฏให้เห็นตั้งแต่พิธีกรรมการเกิด หลังจากเด็กอายุครบหนึ่งสัปดาห์ พ่อแม่เด็กจะทำพิธี “จอปู๊” คือ การนำน้ำมนต์หรือน้ำส้มป่อยมาชำระล้างร่างกายให้กับทารก ถ้าใครได้ลูกสาวหรือลูกชายดังที่หวังไว้ก็มักจะเลี้ยงดูแขกเหรื่อที่มาร่วมงานเต็มที่ คนที่มีเงินมากมักเลี้ยงข้าวปลาอาหาร ส่วนคนที่มีเงินน้อยจะเลี้ยงน้ำชากาแฟและขนม แขกที่มาร่วมงานจะต้องมีของใช้สำหรับเด็กติดมือมาด้วย และจะได้รับของใช้ในชีวิตประจำวันเป็นของชำร่วยกลับไป เช่น สบู่ ผงซักฟอก หรือยาสีฟันเป็นต้น สิ่งที่พ่อแม่ชาวมอญให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การตั้งชื่อ เชื่อกันว่า หากชื่อมีความหมายไม่ต้องกับบุคลิกลักษณะหรือพลังที่มีอยู่ในตัวเด็กจะทำให้เด็กคนนั้นไม่สบายหรือครอบครัวประสบปัญหา เช่น มีครอบครัวหนึ่งตั้งชื่อลูกเป็นภาษามอญมีความหมายว่า “น้ำแข็ง” เด็กคนนี้กลายเป็นเด็กที่ไม่ยอมส่งเสียง ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับผู้คนเหมือนเด็กทั่วไป เกิดมาตัวเล็กที่สุดในบรรดาพี่น้องเจ็ดคน นอกจากนี้พ่อแม่ยังประสบปัญหากับการหางานทำ พ่อแม่จึงลองเปลี่ยนชื่อลูกใหม่ให้มีความหมายว่า “เหล็ก” หลังจากนั้นก็กลายเป็นเด็กร่าเริง แข็งแรง และทำให้พ่อแม่ทำงานได้ปลอดโปร่ง หรือบางคนตั้งชื่อให้ลูกสูงเกินไป เช่น ให้มีความหมายว่าเป็นเทพยดา เจ้าชาย หรือเจ้าหญิง เด็กคนนั้นก็อาจไม่สบาย ขี้โรค ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อที่สามัญชนใช้กันจึงดีขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว คู่รักแรงงานส่วนใหญ่ที่พบรักกันที่นี่มักจัดงานแต่งงานขึ้นที่ห้องเช่าของตน โดยชวนเพื่อนแรงงานมาเป็นสักขีพยานแทนญาติผู้ใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่ในฝั่งพม่า พิธีแต่งงานจะจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย โดยคู่บ่าวสาวจะสวมชุดวิวาห์ทั้งแบบสไตล์ดั้งเดิมนุ่งโสร่งใส่ซิ่น และแบบสากล คือ เช่าสูทและชุดวิวาห์สีขาว อาหารที่ใช้เลี้ยงแขกมักเป็นเนื้อสัตว์ที่นำมาปรุงรสตามสูตรชาวมอญ ส่วนขนมหวานจะเป็นไอศกรีมซึ่งสั่งทำจากชุมชนแรงงานอพยพเช่นกัน พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตที่แรงงานอพยพรักษาไว้ตามแบบฉบับดั้งเดิมยากที่สุด คือ พิธีศพ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มีวันหยุดเพียงแค่วันอาทิตย์วันเดียว การจัดพิธีสวดศพเป็นเวลาหลายวันจึงเป็นเรื่องยากลำบากทั้งเจ้าภาพและผู้มาร่วมงาน งานศพส่วนใหญ่จึงจัดพิธีสวดและเผาในวันเดียวกัน หรือบางศพอาจไม่มีโอกาสได้ประกอบพิธีใด ๆ เนื่องจากญาติพี่น้องไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับทางโรงพยาบาลเพื่อนำศพออกมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ศพเหล่านี้จึงกลายเป็นศพไร้ญาติ ปล่อยให้ทางโรงพยาบาลเป็นผู้จัดการแทน เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อาทิ พม่าแท้ ทวาย กะเหรี่ยง หรือไทยใหญ่ที่ทำงานในมหาชัยมีจำนวนน้อย พิธีกรรมต่าง ๆ ตามแบบฉบับดั้งเดิมจึงได้ปรากฏให้เห็นอย่างโดดเด่นเหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์มอญ เราจึงเห็นวัฒนธรรมมอญค่อนข้างโดดเด่นในพื้นที่แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มที่มาจากพม่ายังคงมีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตหลายอย่างร่วมกัน อาทิ การกินหมาก หรือทาแป้งทะนะคา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนน้อยกว่าไมได้รู้สึกแปลกแยกแตกต่างหรือโดดเดี่ยวจนเกินไปนัก และเมื่อกลุ่มชาติพันธุ์ใดจัดงานประเพณี กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ก็จะไปร่วมงานในฐานะเพื่อนร่วมทางจากแผ่นดินพม่าสู่มหาชัยเช่นเดียวกัน ชีวิตที่เปราะบาง เวลาเที่ยงคืน พ่อของเด็กหญิงน้ำผึ้งเดินทางมาถึงท่าเรือเพื่อรอขนปลาขึ้นฝั่งพร้อมกับเพื่อนแรงงานชายอีกหลายสิบคน บนเรือที่กำลังค่อย ๆ เทียบท่า ลูกเรือประมงซึ่งเดินทางออกจากฝั่งไปไกลนานหลายเดือนโบกไม้โบกมือให้กับเพื่อนบนฝั่ง สีหน้าของทุกคนดีใจที่จะได้สัมผัสผืนดินอีกครั้ง รวมทั้งจะได้กลับมาหาแฟน ลูกเมีย และเพื่อนฝูง พ่อของน้ำผึ้งทำงานขนปลาถึงเวลาตีสองจึงกลับมานอนที่ห้องพักติดกับโรงงานแกะกุ้งซึ่งเขาและเมียทำงานอยู่ด้วยกันตั้งแต่ตีห้าจนถึงสองทุ่ม น้ำผึ้งจะช่วยแม่ดูแลน้อง ๆ ทั้งสองคน โดยสลับทำงานแกะกุ้งกับพ่อในบางวัน เพื่อให้พ่อได้มีเวลาพักผ่อน น้ำผึ้งเคยไปเรียนภาษาไทยที่สำนักงานของเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อในระบบโรงเรียนเนื่องจากต้องช่วยดูแลน้องและทำงานบ้านเช่นเดียวกับลูกแรงงานอพยพส่วนใหญ่ แม้ว่าวันนี้รัฐบาลไทยจะเปิดโอกาสให้เด็กทุกสัญชาติได้เรียนหนังสือ แต่ด้วยความยากจนทำให้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ต้องเข้าสู่ระบบการขายแรงงานก่อนวัยอันควร ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิหลายด้าน รายงานวิจัยเรื่อง “ความท้าทายที่ลุ่มน้ำโขง : การจ้างแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย : งานหนัก จ่ายน้อย และไม่ได้รับการคุ้มครอง” ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัย มหิ ดล ซึ่งทำการศึกษาวิธีการว่าจ้างแรงงานและสภาพการทำงานของแรงงานข้ามชาติในภาคการจ้างงานสำคัญ 4 ภาคของประเทศไทย คือ การเกษตร งานบ้าน เรือ ประมง และการแปรรูปปลา พบว่าแรงงานรับใช้ในบ้านกว่าครึ่งหนึ่ง และลูกเรือหาปลาอีกกว่า 1 ใน 5 ถูกห้ามออกจากที่ทำงาน และยังถูกนายจ้างบังคับให้ทำงานหนักโดยไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ คือ ทำงานวันละกว่า 12 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 7 วัน นอกจากนี้ยังมีการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” หลายแบบ ตั้งแต่ทำร้ายร่างกาย บังคับให้ทำงาน จำกัดพื้นที่ ใช้แรงงานเด็กในงานเสี่ยงอันตราย และถูกกระทำทารุณทั้งทางใจและทางวาจาเป็นประจำ บางกรณียังแสวงหาประโยชน์จากแรงงานโดยมิชอบใกล้เคียงกับพฤติกรรมการค้ามนุษย์ด้วย นอกจากนั้นแรงงานส่วนใหญ่ยังได้รับ “เงิน เดือนน้อย” หรือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายไทย แต่แรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด งานวิจัยระบุว่า “ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ ทัศนคติของนายจ้างที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง นายจ้างคนไทยจำนวนมากนิยมจ้างแรงงานเด็กและแรงงานเด็กต่างชาติที่อายุน้อย เนื่องจากเชื่อว่าเด็กเหล่านี้เชื่อฟังและควบคุมง่าย ในกลุ่มแรงงานรับใช้ในบ้านนั้น 60% ถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้าน ทำให้ต้องอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวและต้องพึ่งพานายจ้างเพียงอย่างเดียว” แม้ว่าปัจจุบัน รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ทำบัตรอนุญาตทำงาน แต่แรงงานก็ยังตกเป็นเหยื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ เนื่องจากนายจ้างยึดบัตรตัวจริงเอาไว้ หรือในกรณีที่แรงงานทำงาน “สุจริต” แต่นอกประเภทงานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำได้ อาทิ ร้านขายสินค้าและบริการในชุมชนแรงงานอพยพ เจ้าของร้านเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินพิเศษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกเดือน เพื่อแลกกับการถูกจับกุมและส่งกลับ วินจ่อ (นามสมมติ) เจ้าของร้านผลิตการ์ดแต่งงานซึ่งให้บริการเฉพาะแรงงานอพยพเคยถูกจับติดคุก ยึดคอมพิวเตอร์ และขึ้นศาล รวมทั้งส่งกลับไปยังชายแดนพม่า ด้วยข้อหาทำงานผิดประเภท เขาต้องเสียเงินค่าเดินทางกลับมาที่นี่อีกครั้งและจ่ายค่าคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้ว่าอาชีพที่เขาทำจะเป็นอาชีพสุจริตและให้บริการเฉพาะกลุ่มแรงงานอพยพด้วยกันก็ตาม เช่นเดียวกับมินซอว์ สาวประเภทสองเจ้าของร้านทำผม เธอรักอาชีพนี้และทำมันได้ดีจนมีลูกค้ามากมาย เธอค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบซื้ออุปกรณ์ทำผมทีละชิ้น แล้วจู่ ๆ เจ้าหน้าที่ก็มายึดของ ๆ เธอไปทีละอย่าง เธอต้องนำเงินไปไถ่ข้าวของเหล่านี้คืนมาหลายต่อหลายครั้ง จนสุดท้ายเธอถูกยึออุปกรณ์ไปหมดทั้งร้านพร้อมกับเตรียมถูกส่งกลับ เจ้าหน้าที่เรียกเงินเธอกว่า 20,000 บาทเพื่อแลกกับอิสรภาพและอุปกรณ์ทำมาหากิน พร้อมกับค่าคุ้มครองความเสี่ยงอีกเดือนละ 1,500 บาท เธอยอมจ่ายทุกอย่างเพื่อให้เธอได้ประกอบอาชีพที่เธอรักต่อไป ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของชีวิตที่เปราะบางซึ่งแรงงานอพยพจำนวนมากต้องเผชิญโดยปราศจากทางสู้ บนเส้นทางจากมหาชัยสู่ชายแดนอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญบุรี จอซ่อ(นามสมมติ) กำลังเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ฝั่งพม่า เขาซื้อข้าวของมากมายกลับไปฝากครอบครัวที่รอคอยการกลับมาของเขา เครื่องเล่นซีดี วิทยุ เสื้อผ้า ของเล่น นี่เป็นเงินเก็บที่เขาเฝ้าอดออมมาเป็นเวลาหลายปี ทว่า บนถนนสายเดียวกันนี้ เพื่อนแรงงานจากพม่าอีกมากมายต้องเดินทางกลับบ้านโดยรถบรรทุกของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอย่างแออัดยัดเยียด ทุกคนไม่มีโอกาสซื้อข้าวของกลับไปฝากใคร หรือสิ่งของมีค่าติดตัวกลับบ้าน เนื่องจากถูกจับด้วยข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน แม้ว่าพวกเขาจะทำงานที่สุจริตแลกกับค่าแรงราคาถูก หรือไม่เคยก่ออาชญากรรมร้ายแรงใด ๆ ให้กับสังคมไทย แต่พวกเขาก็ยังถูกจับและส่งกลับ โดยปราศจากทรัพย์สินมีค่าที่ทำงานหามาได้จากหยาดเหงื่อแรงงานของเขาอยู่เสมอ แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากกลับบ้านแบบตัวเปล่า พวกเขามีความฝันว่าจะหอบหิ้วของฝากกลับไปให้คนทางบ้าน พวกเขาจึงต้องยอมให้นายหน้าพากลับมาทำงานและเบิกเงินล่วงหน้าของพวกเขาไปก่อน เพื่อหวังว่า เขาจะมีโอกาสได้ทำบัตรอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในการขึ้นทะเบียนครั้งต่อไป หรือโชคดีที่ทำงานเก็บเงินส่งกลับบ้านได้ก่อนจะถูกจับกุมและส่งกลับอีกครั้ง
สัมภาษณ์ สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN (Labour Rights Promotion Network) อยากทราบว่าปัญหาของแรงงานอพยพในจังหวัดสมุทรสาครที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคืออะไร ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน แรงงานไม่ได้รับค่าจ้าง ทำร้ายร่ายกาย หรือแรงงานที่ไม่มีบัตรถูกนายจ้างเลิกจ้างกะทันหันโดยไม่จ่ายค่าแรง หรือเรียกตำรวจมาจับแทน นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการของภาครัฐ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพและการศึกษา อาทิ สิทธิการได้รับบริการทางสุขภาพของเด็ก ซึ่งตามกฎหมายอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ติดตามแรงงาน แต่เมื่อเด็กเจ็บป่วย กลับไม่มีสิทธิใช้บริการหลักประกันสุขภาพตามพ่อแม่ของเขาซึ่งมีบัตรอนุญาตทำงาน ส่วนด้านการศึกษา แม้ว่า มติ ครม. 5 ก.ค. 48 จะเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าเรียน แต่ปัจจุบันมีเพียงโรงเรียนวัดศิริมงคลเท่านั้นที่เปิดรับเด็กกลุ่มนี้ ขณะนี้โรงเรียนอื่นซึ่งอยู่ในชุมชนที่แรงงานอาศัยอยู่กลับไม่ยอมรับ เนื่องมาจากภาครัฐไม่ได้ทำงานเชิงรุก ประชาสัมพันธ์ และปรับทัศนคติของบุคลากรในโรงเรียน นอกจากนี้ งบประมาณสนับสนุนก็ยังมาไม่ถึง ทำให้เด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีโอกาสเข้าเรียนในระบบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรี่องเด็ก ๆ ยังเข้าสู่ระบบการขายแรงงานก่อนวัยอันควร เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ครอบครัว ส่วนเด็กเล็กก็ขาดการดูแลเอาใส่จากพ่อแม่ ซึ่งทำงานหนักตั้งแต่เช้าจรดเย็น คุณภาพชีวิตของเด็กจะค่อนข้างแย่ LPN ได้มีบทบาทในการช่วยเหลือแรงงานอพยพอย่างไรบ้าง องค์กรของเราก่อตั้งเมื่อปี 48 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิ ความเสมอภาค การพึ่งตนเอง และสรรค์สร้างการอยู่รวมกันในสังคมอย่างสันติของแรงงานอพยพ ลักษณะการทำงานของเราจะเน้นการแก้ปัญหาที่รากเหง้า หรือผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาระดับนโยบาย ปัจจุบัน เรามีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยมีอาสาสมัครอยุ่ในชุมชน โดยหากแรงงานมีปัญหาเรื่องการถูกละเมิดสิทธิก็จะเราทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแรงงานและเจ้าหน้าที่รัฐหรือนายจ้าง ในการต่อรองเพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประนีประนอม เช่น หากแรงงานไม่มีบัตร แต่เจ็บป่วย เราจะพยายามใช้หลักมนุษยธรรมสากลมาใช้ในการต่อรองกับทางโรงพยาบาลในการให้บริการการรักษาหรือต่อรองค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาไทยให้กับบุตรหลานแรงงานอพยพก่อนเข้าเรียนในระบบ โดยทำงานร่วมกับโรงเรียนวัดศิริมงคลซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องในการเปิดรับเด็กทุกสัญชาติเข้าเรียน ธันวา สิริเมธี

ไม่มีความคิดเห็น: