วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตร.สั่งล่ามือปล่อยข่าว ทำแรงงานเขมรหนีกลับประเทศ

ตร.สั่งล่ามือปล่อยข่าว ทำแรงงานเขมรหนีกลับ "บัวแก้ว" เรียกทูตเคลียร์ คสช.ปัดระดมกวาดล้าง ปลัด กต.เชิญทูตกัมพูชาหารือวันนี้ เคลียร์ไทยกวาดล้างแรงงาน ยันแค่จัดระเบียบช่วยรับสิทธิประโยชน์-ไม่ตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ "วัชรพล"สั่งสืบหาต้นตอข่าวลือ "คสช."ชี้ไม่มีนโยบายกวาดล้าง เล็งตั้ง"มหาชัย"เป็นโมเดลจัดการปัญหา ส.ส่งออกข้าว-ก่อสร้าง-ประมง ชี้วิกฤตคนงานรุนแรง @ ถกปัญหาแรงงาน "มหาชัย" เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 มิถุนายน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (อกนร.) พร้อมนายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ประชุมติดตามสถานการณ์การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีประมงจังหวัด แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด สมาคมแช่เยือกแข็ง สมาคมประมงนอกน่านน้ำเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ทั้งนี้ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัค ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวรายงานสถานการณ์ว่า ปัจจุบันจังหวัดมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั้งหมด 196,579 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้จดทะเบียนคาดว่ามีประมาณ 180,000-190,000 คน เป็นแรงงานสัญชาติพม่ามากที่สุด รวมทั้งหมดใน จ.สมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 400,000 คน @ ชี้แค่ข่าวลือกวาดล้างรุนแรง จากนั้น พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสนใจการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก และมีแนวคิดจะจัดการปัญหานี้ให้เรียบร้อย แต่ในความเห็นส่วนตัวนั้นคิดว่าปัญหาต่างด้าวเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน มีกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งมีภาคเอกชนเข้ามาเกี่ยวข้อง "ที่ผ่านมาเคยทำงานในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รวบรวมปัญหาพบว่า 1.เราไม่เคยเห็นแผนการใช้แรงงานโดยภาพรวมของประเทศ 2.เนื่องจากมีหน่วยงานหลายหน่วยงานมาร่วมกันจัดการ จะเห็นว่าการดำเนินการขาดเอกภาพ 3.การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง และ 4.มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวคาดว่ายังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาในเรื่องดังกล่าวให้เรียบร้อย ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือว่าจะปราบปรามแรงงานต่างด้าว ขอยืนยันว่าไม่มี เนื่องจากเรื่องนโยบายการจัดการแรงงานต่างด้าวยังอยู่ในการพิจารณาของ กนร." พล.อ.ศิริชัยกล่าว @ จัดหางานกำหนด5ยุทธศาสตร์ นายสุวรรณ ดวงตา จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าใน จ.สมุทรสาครมีกว่า 150,000 คน สัญชาติลาวกว่า 4,000 คน และสัญชาติกัมพูชากว่า 6,000 คน นอกจากนี้ จังหวัดได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย 2.พัฒนาฝีมือแรงงานสู่มาตรฐานสากล 3.พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานต่างด้าวตามหลักสิทธิมนุษยชน 4.สมานฉันท์ชุมชนแรงงานต่างด้าวกับชุมชนไทย 5.ลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระยะยาว "ส่วนผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา มีนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวเข้าจดทะเบียน 1,636 คน แบ่งเป็นสัญชาติพม่า 1,573 คน สัญชาติลาว 32 คน และสัญชาติกัมพูชา 31 คน จากนายจ้าง 90 ราย ในเรือ 110 ลำ ได้รับอนุญาตทำงานแล้ว 497 คน" นายสุวรรณกล่าว @ เล็งตั้ง "สมุทรสาคร" โมเดล นายสุวรรณกล่าวว่า จากข้อมูล จ.สมุทรสาคร มีชุมชนแรงงานต่าวด้าวทั้งหมด 73 ชุมชน นับจากชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ 500 คนขึ้นไป แบ่งเป็น อ.เมืองสมุทรสาคร 37 ชุมชน มีแรงงานต่างด้าว 268,000 คน อ.กระทุ่มแบน 39 ชุมชน มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 44,300 คน และ อ.บ้านแพ้ว 4 ชุมชน มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 10,900 คน ภายหลังรับฟังสถานการณ์เสร็จ พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า จ.สมุทรสาคร จะเป็นต้นแบบในการจัดการแรงงานต่างด้าว เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ได้กำชับให้ดูแลแรงงานต่างด้าวไปตามมาตรฐานสากล ส่วนการจัดโซนนิ่งอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของ กนร.เพื่อควบคุมแรงงานให้อยู่เป็นพื้นที่ สะดวกต่อการติดต่อ และดูแลด้านความเป็นอยู่ @ เร่งชี้แจงประเทศเพื่อนบ้าน ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่แรงงานกัมพูชาพากันเดินทางกลับประเทศ พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า คสช.ไม่มีนโยบายปราบปรามแรงงานต่างด้าวที่รุนแรง ส่วนแรงงานสัญชาติอื่นนั้นยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการอพยพกลับประเทศต้นทางแต่อย่างใด รวมทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำความเข้าใจกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านว่ากระแสข่าวลือเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และภาคเอกชนก็ได้ทำหนังสือเวียนถึงลูกจ้างเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว ด้านนายประวิทย์กล่าวว่า แรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับประเทศนั้นส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับทราบข่าวลือว่า คสช.จะปราบปรามจับกุมด้วยวิธีการรุนแรง ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน ทั้งนี้ แรงงานที่เดินทางออกนอกประเทศมีจำนวน 91,308 คน ทั้งด่านชายแดน จ.สระแก้ว จันทบุรี และตราด ทั้งนี้ แรงงานดังกล่าวสามารถเข้าประเทศโดยถูกกฎหมายได้โดยการกลับไปทำหนังสือเดินทางและกลับเข้ามาตามด่านชายแดนที่มีศูนย์จุดเดียวเบ็ดเสร็จ ของกระทรวงแรงงานได้ โดยภาคธุรกิจที่ขาดแคลนหรือต้องการแรงงานก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามบันทึกข้อตกลงระหว่างประเทศ (เอ็มโอยู) ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด @ กกจ.แจงแรงงานมี 2 ส่วน ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายธนิช นุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ร่วมแถลงข่าว นายธนิชกล่าวว่า ตัวเลขแรงงาน 3 ชาติ ที่ทำงานในประเทศไทยมี 2 ส่วน คือ แรงงานต่างด้าวนำเข้าถูกต้องตามกฎหมาย 3 สัญชาติ 408,507 คน เป็นแรงงานจากพม่า 111,492 คน ลาว 55,342 คน และกัมพูชา 241,673 คน ส่วนประเภทที่ 2 คือแรงงานต่างชาติ ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ หมายความว่าหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย แล้วทางการไทยบริหารจัดการขึ้นทะเบียน และส่งให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สถานะบุคคล หลังจากพิสูจน์แล้วจะให้เอกสารรับรองบุคคล โดยแรงงานประเภทนี้ มี 3 ประเทศ 1,824,508 คน เป็นแรงงานพม่า 1,603,279 คน ลาว 40,546 คน และกัมพูชา 153,683 คน @ แห่กลับเหตุทำงานครบ 4 ปี นายธนิชกล่าวว่า ทั้งนี้แรงงานทั้งสองประเภทนั้น ทำบันทึกความเข้าใจทั้ง 3 ประเทศ ว่าเมื่อทำงานครบกำหนด 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง โดยปี 2557 แรงงานที่อยู่ครบ 4 ปี และต้องเดินทางกลับประเทศ ในส่วนประเภทพิสูจน์สัญชาติ ประเทศพม่า 263,926 คน ลาว 34,999 คน กัมพูชา 25,784 คน รวม 324,709 คน ประเภทนำเข้าโดยถูกกฎหมายพม่า 4,658 คน ลาว 8,740 คน และกัมพูชา 41,745 คน รวม 55,143 คน ซึ่งหากดูตัวเลขตามนี้จะพบว่าแรงงานกัมพูชาที่ต้องเดินทางกลับ มีจำนวนทั้งหมดกว่า 67,000 คน และในบางครั้งแรงงานที่ต้องเดินทางกลับ ยังมีการชวนญาติพี่น้องที่ไม่ครบกำหนดเดินทางกลับด้วย เนื่องจากเข้าฤดูฝน เป็นช่วงทำการเกษตร จึงเป็นเหตุผลที่แรงงานกัมพูชาเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก @ เร่งแก้แรงงานเด็ก-ค้ามนุษย์ พ.อ.วินธัยกล่าวถึงกระแสข่าวที่อ้างว่าทหารใช้มาตรการรุนแรงขับไล่แรงงานต่างชาติออกนอกประเทศว่า ยืนยันไม่เป็นความจริง ทาง คสช.ยังคงให้ความสำคัญกับงานรักษาความสงบพี่น้องประชาชน ไม่ได้ไปดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องแรงงานหรือใช้มาตรการด้านกฎหมายใดเลย ทั้งนี้หากพบเห็นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้เนื่องจากขณะนี้มีการแอบอ้างหลายรูปแบบ เคลื่อนไหวบิดเบือนเพื่อต่อต้าน คสช. มีทั้งการปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ อย่างไรขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณสอบถามโดยตรงจาก คสช. พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง คือการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การค้ามนุษย์ การทุจริต ของเจ้าหน้าที่นายหน้าต่างๆ และการสะสางคดีความที่ยังคั่งค้างอยู่อย่างเป็นธรรม และตามหลักสากลสำหรับการดำเนินการด้านอื่นๆ ในภาพรวมจะดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวดำเนินกิจการไปตามปกติ และดูแลให้อยู่ในความเรียบร้อย การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจะดำเนินการที่เป็นเหตุเป็นผล สมกับความเป็นจริงและการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่สำคัญจะต้องส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป @ ตร.สั่งหาต้นตอข่าวลือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางกลับประเทศจำนวนมากว่า ตร.ยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายขับไล่แรงงานชาวกัมพูชาแต่อย่างใด และไม่ได้สั่งการให้กวดขัน กดดันหรือขับไล่แต่อย่างใด ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ทำร้ายแรงงานชาวกัมพูชา แต่เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นต้องตรวจสอบที่มาของข่าวก่อนสืบสวนสอบสวนไปตามกระบวนการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามในส่วนแรงงานไร้ฝีมือยังให้อยู่ทำงานในประเทศ เป็นช่วงผ่อนผันการให้อยู่ในประเทศ ส่วนกรณีที่มีข่าวลือจนแรงงานแห่กลับประเทศนั้นจะต้องตรวจสอบสืบหาที่มาของข่าวเพื่อดำเนินการแก้ไข ระงับข่าวลือ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (สบ 10) กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการตั้งคณะทำงานระดับนโยบายโดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ รอง คสช.เป็นประธาน ทั้งนี้ ผลการประชุมมีมติให้รวมกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เดิมทีแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ให้เป็นกลุ่มเดียว เมื่อนโยบายชัดเจนจะมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและผลักดัน เน้นกลุ่มแรงงานพม่า ลาว และกัมพูชา จากนี้จะตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ แต่ต้องรอฟังระดับนโยบาย @ ส.ส่งออกข้าวชี้วิกฤตแรงงาน นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ยอมรับขณะนี้ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวเข้าขั้นรุนแรง โดยแรงงานต่างด้าวหายไปถึง 80% ในส่วนของผู้ส่งออกข้าวและโรงสี ทำให้การส่งมอบสินค้าเกิดความล่าช้าและหยุดชะงักช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมว่ากำลังประสบปัญหาเรื่องการตื่นตระหนกของแรงงานต่างด้าว ทำให้ส่วนใหญ่หยุดงานและบางส่วนเดินทางกลับประเทศ แม้จะเป็นแรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง เพราะวิตกในเรื่องข่าวลือต่างๆ ต่อการจัดระเบียบแรงงาน ของ คสช. ซึ่งเชื่อว่า คสช.จะออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง และภาคเอกชนก็ได้ยืนยันต่อแรงงานต่างด้าวแล้วว่ายังสามารถทำงานได้ตามปกติ สำหรับแรงงานที่มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง @ ก่อสร้างลงทุนเครื่องจักรเพิ่ม นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากการที่แรงงานต่างด้าวหนีกลับประเทศ ในไซต์งานต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ สมุทรปราการ หาดใหญ่ ภูเก็ต เป็นต้น เนื่องจากเป็นผู้รับเหมาช่วง ซึ่งบริษัทต้องปรับตัว อาจลงทุนมากขึ้น เพื่อซื้อเครื่องจักรเครื่องมือ นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ อดีตนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่สุดขณะนี้คือ คสช.ต้องเร่งทำความเข้าใจเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวว่าไม่ได้กระทำที่รุนแรงถึงขั้นที่จะขับไล่และจับกุมแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นขณะนี้สถานการณ์การเมืองเริ่มนิ่ง ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น การที่แรงงานหนีกลับประเทศ จะส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา @ ชี้ภาคเกษตรได้รับผลกระทบ นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงว่า กระแสข่าวการกวาดล้างจับกุมแรงงานกัมพูชา จนแรงงานหวาดกลัวและเดินทางกลับประเทศจำนวนมากนั้น จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะประธาน กนร.ได้สอบถามว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไร โดยกระทรวงแรงงานยืนยันว่าไม่มีนโยบายพิเศษเรื่องกวาดล้างแรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด ขณะที่การตรวจแรงงานเป็นการทำงานตามปกติ ซึ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว อาทิ สภาพการจ้างงานและสิทธิที่แรงงานพึงได้ตามสัญญาจ้างงาน อีกทั้งได้ให้นโยบาย กกจ.ชี้แจงกับผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวในเรื่องนี้แล้ว โดยพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวดังกล่าว คือ กลุ่มเกษตรกรรมใน จ.จันทบุรี ระยอง และตราด ที่อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต @ "ธีระชัย" โพสต์แรงงานหมัดน็อก ศก. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" ว่า "แรงงานเขมรที่หนีกลับบ้านร่วมแสนอาจจะเป็นหมัดน็อกเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงการก่อสร้างจำนวนมากไม่สามารถเดินหน้าได้ภายใน 3 เดือน หลายโครงการที่เริ่มมีปัญหาเงินหมุนเวียนอยู่แล้วจะทรุดหนักจนถึงขั้นค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่แบงก์ แบงก์จะต้องจัดชั้นลูกหนี้เหล่านี้และกันสำรอง" "ถึงแม้ค่าแรงงานเขมรที่หนีกลับบ้านจะเป็นเงินเพียงน้อยนิด แต่แบงก์จะต้องกันสำรองสำหรับยอดเงินกู้ทั้งโครงการ และกำไรแบงก์จะลดลง เมื่อกระทบฐานะแบงก์ การปล่อยกู้รายใหม่ก็จะติดขัดไปหมด ปัญหาจะลุกลามต่อเนื่องไปยังธุรกิจคู่ค้าของโครงการต่างๆ ซึ่งจะขาดเงินหมุนเวียนไปด้วย และไม่ช้าถ้าถึงขั้นกระทบการจ้างงาน หนี้ครัวเรือนที่ผ่อนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จะติดขัดเป็นลูกโซ่" "ไม่น่าเชื่อว่าแรงงานเขมรเพียงแสนคนจะมีผลได้มากเช่นนี้ เป็นเพราะสภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เปราะบาง จากปัญหาล้นตลาดอยู่แล้ว และหลายรายก็ยังแบกภาระเก็งกำไรที่ดินไว้อีกด้วย ทั้งตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และที่อื่นๆ จึงต้องหาทางเจรจาให้แรงงานเขมรกลับคืนมาด่วนที่สุด" @ เผยตื่นข่าวแห่กลับตามกระแส ผู้สื่อข่าว จ.สระแก้ว รายงานว่า แรงงานชาวกัมพูชายังคงเหมารถ 10 ล้อ รถบัส และรถ 6 ล้อ รวมทั้งใช้บริการรถไฟทยอยเดินทางจากกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ ให้ไปที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ-ปอยเปต เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา นางสรี โปว ชาวกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองสวายเรียง กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานชาวกัมพูชาอพยพกลับประเทศกัมพูชา เนื่องจากในอดีตชาวกัมพูชาได้รับบทเรียนจากสงครามภายในของกัมพูชา ที่ทหารทำทารุณกับชาวกัมพูชา ทำให้เกิดการฝังใจมาโดยตลอด เมื่อรู้ข่าวว่าประเทศไทยมีการยึดการปกครองโดยทหาร ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีพาสปอร์ต จึงเกิดอาการหวาดกลัวมาก พยายามกลับประเทศกัมพูชาโดยเร็วที่สุดด้วย "จากการสอบถามชาวกัมพูชาหลายๆ คน ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกันว่า กลัวทหารไทยจะทำร้าย และส่วนหนึ่งเดินทางกลับตามกระแส และญาติทางประเทศกัมพูชาโทรศัพท์ให้เดินทางกลับ และส่วนหนึ่งได้รับแจ้งจากเฟซบุ๊กด้วย" นางสรีกล่าว @ ประมงปัตตานีกระทบแล้ว นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นชาวกัมพูชาที่เข้ามาใช้แรงงานภาคการประมงใน จ.ปัตตานี ทั้งผู้หญิงและผู้ชายหลายร้อยคนได้ติดต่อไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอเดินทางกลับประเทศ โดยให้เหตุผลว่าหากอยู่ในประเทศไทยเกรงจะได้รับอันตราย อาจจะถูกจับกุมในช่วงสถานการณ์ในขณะนี้ของประเทศไทย ทำให้แรงงานต่างด้าวมีความวิตกกังวลและไม่กล้าที่จะมาทำงาน จึงทำให้ภาคการประมงขณะนี้เริ่มที่จะได้รับผลกระทบบ้างแล้ว "ถ้าหากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ แน่นอนว่าภาคการประมงของ จ.ปัตตานีต้องได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะแรงงานประมงส่วนใหญ่เป็นต่างด้าวมากถึง 99% จะทำให้รายได้ของ จ.ปัตตานีจากภาคการประมงลดลงมาก เนื่องจากธุรกิจการประมงถือเป็นเศรษฐกิจหลักของ จ.ปัตตานี 50% ซึ่งขณะนี้ได้มีการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เพื่อเร่งหามาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ" นายภูเบศกล่าว @ เชิญทูตกัมพูชาหารือ 17 มิ.ย. ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่แรงงานชาวกัมพูชาจำนวนมากเดินทางกลับไปยังประเทศกัมพูชา เนื่องจากแตกตื่นกระแสข่าวทางการไทยกวาดล้างแรงงานต่างด้าวในไทย ว่า แรงงานมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นข่าวที่ออกไปว่ารัฐบาลมีการกวาดล้างหรือจับกุมแรงงานต่างด้าวเพื่อส่งกลับประเทศจึงไม่เป็นความจริง และเป็นข่าวลือ ทั้งนี้ทางการไทยต้องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในไทยเพื่อให้แรงงานที่ผิดกฎหมายได้เข้าสู่ระบบและได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้กฎหมายของไทย รวมถึงไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อของนายจ้างหรือขบวนการค้ามนุษย์ นายสีหศักดิ์กล่าวอีกว่า ได้เชิญนางอีท โซฟี เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยมาร่วมหารือกันในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ เพื่อพูดคุยให้ทราบว่านโยบายของประเทศไทยในเรื่องแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างไร ส่วนข่าวที่ออกไปนั้นไม่มีมูลความจริง และเป็นเรื่องที่ทั้งไทยและกัมพูชาต้องร่วมมือกัน เพราะสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้เป็นประโยชน์ต่อแรงงานต่างด้าว และทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถทำงานด้วยความมั่นใจว่าจะไม่ถูกจับกุม และจะได้รับการดูแลอย่างดีจากนายจ้าง @ ยอดเขมรกลับบ้าน 1.4 แสนคน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า นายกอ สมสะเริด ผู้ว่าการจังหวัดบันเตียเมียนเจยของกัมพูชา เปิดเผยว่า จนถึงคืนที่ผ่านมามีแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับมาจากไทยแล้วประมาณ 142,000 คน โดยมากกว่า 2,000 คนเดินทางข้ามแดนกลับเข้ามาที่ด่านปอยเปตในช่วงเช้านี้ และรอให้เจ้าหน้าที่ช่วยนำส่งกลับภูมิลำเนาของตนเอง โดยบนถนนตรงจุดข้ามแดนเต็มไปด้วยรถบรรทุกทหารของกัมพูชาที่รอรับแรงงานทั้งชาย หญิง และเด็กเพื่อส่งกลับไปยังภูมิลำเนา ที่มา : นสพ.มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: