วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

นสพ.พลังชน แนะนำ วัดคลองชะโด ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี



              เมื่อวาน วันที่ 26 เมษายน 2561 ได้มีโอกาสเข้าไปที่วัดคลองชะโด ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลวังหว้า มี พระปลัดกิมฮั้ว นิกกิเลโส  เป็นเจ้าอาวาส องค์ปัจจุบัน ได้กราบและ สนทนา กับท่าน จึงได้ทราบว่า วัดแห่งนี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะ การพัฒนาวัด การพัฒนาคน และ การบรรพชาสามเณร ภาคฤดูร้อน ที่ผ่านมา จึงขอรวบรวม รายละเอียดบางส่วน มาเล่าให้ฟังกัน ในโอกาสนี้ 

      ประวัติวัดคลองชะโด

          วัดคลองชะโด เป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ.2485 (ประมาณ 75 ปี) ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เริ่มแรก นายกลิ้ง นางพูล ประทุม และนายหรั่ง นางกอง บุญเรืองรอด เป็นผู้ถวายที่ดินและริเริ่มก่อสร้างวัดขึ้น ได้ตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้านคลองชะโด มีเนื้อที่ตั้งวัด 23 ไร่ 2 งาน 76 ตารางวา ดำเนินการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2515 และก่อสร้างอุโบสถเมื่อ พ.ศ.2517 





           ปัจจุบันอาคารเสนาสนะสงฆ์ครบบริบูรณ์ วัดนี้ มีสมภารปกครองสืบทอดกันมา 9 รูป ตามลำดับดังนี้ 1.พระอธิการถึก 2.พระอธิการหมอน 3.พระอธิการเก๋ 4.พระอธิการชิ้น 5.พระอธิการใบ 6.พระอธิการผิว 7.พระอธิการก๊ก กลฺยาโณ 8.พระอธิการบัว รตนปญฺโญ 9.พระครูสุกิจวิบูล (หลวงพ่อทัศน์) พ.ศ.2512 ถึง 2559 10.พระปลัดกิมฮั้ว นิกกิเลโส  2559 ถึง ปัจจุบัน





             สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัด สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดคลองชะโด คือ หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ เป็นที่เคารพศรัทธากราบไหว้ของชาวบ้าน สันนิษฐานสร้างขึ้นปลายสมัยสุโขทัย ประดิษฐานในหอสวดมนต์ พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 25 นิ้ว ศิลปะสุโขทัย 





             ตามประวัติมีว่านายหรั่ง บุญเรืองรอด เป็นชาวบ้านกล้วย มีอาชีพล่องเรือขายข้าวเปลือก ไปขายที่กรุงเทพฯ ได้ไปขอหลวงพ่อวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นโดยทั่วไป ท่านให้มาและได้นำมามอบให้วัดคลองชะโด ประดิษฐานอยู่ศาลาพื้นดินในระยะแรก ครั้นต่อมาปูนปั้นเกิดหลุด ชาวบ้านได้เห็นองค์พระเป็นเนื้อทองสัมฤทธิ์





             ได้ช่วยกันรักษาดูแล พอถึงวัดสิ้นเดือน 12 ของทุกปี จะมีประเพณีอัญเชิญหลวงพ่อสุโขทัย ออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้ปิดทองในงานปิดทองหลวงพ่อสุโขทัย เพื่อความเป็นสิริมงคล พระครูสุกิจวิบูล (หลวงพ่อทัศน์) เจ้าอาวาส ได้ประชุมชาวบ้านปรึกษาหารือกันว่า สมควรที่จะสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อสุโขทัย เป็นพุทธสถานให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้บูชา ปิดทอง พร้อมกับพระพุทธรูปของวัดและเก็บพระไตรปิฎก 





           เมื่อถึงวันงานปิดทองพระประจำปี มีประชาชนเดินทางไปร่วมงานปิดทองหลวงพ่อสุโขทัยและร่วมทำบุญกันมาก รวมทั้งญาติโยมที่มาจากต่างถิ่น เป็นที่เชิดหน้าชูตาของท้องถิ่นไปด้วย สำหรับวิหารที่สร้างขึ้น ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 14 เมตร ชั้นเดียว ทรงจั่วงบประมาณ วิหารหลวงพ่อสุโขทัย ได้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 โดยได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณ พระเทพสุวรรณโมลี วัดป่าเลไลยก์ เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในพิธี ปิดทองเปลวแผ่นดวงศิลาฤกษ์ และประกอบพิธีวางแผ่นดวงศิลาฤกษ์ เป็นที่เรียบร้อย









          โครงการบรรพชา สามเณรภาคฤดูร้อน วัดคลองชะโด ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ประจำปี ๒๕๖๑ เมื่อวันที่  ๒-๑๒ เมษายน ๒๕๖๑  ที่ผ่านมา













           พระมหาวชิรวิชญ์ วชิรเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนิมมานรดี กองเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๔ ให้ความเมตตามาตรวจเยี่ยมโครงการสามเณรภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๑  วัดคลองชะโด ประจำปี ๒๕๖๑





           หลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระมงคลกิตติวิบูลย์ รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดวิมลโภคาราม ตรวจเยี่ยมโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๑ วัดคลองชะโด ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี.






           ท่านพระครูศรีประจันตคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ เจ้าอาวาสวัดดอนบุพผาราม มาเยี่ยมสามเณรในโครงการ สามเณรภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๑ ประจำปี ๒๕๖๑ วัดคลองชะโด ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี.






          วิทยากร  จาก สถานีตำรวจภูธร ศรีประจันต์ ให้ความรู้ เรื่องการป้องกันปัญหา เรื่อง ยาเสพติด 
  

  
  




ข้อมูล พระพุทธรูป สมัยสุโขทัย  (ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๐๐ - ๑๘๙๓)





          พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นฝีมือช่างไทยสมัยเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือสมัยราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัย ในสมัยนี้ได้รับพระพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์เข้ามาประพฤติปฏิบัติในประเทศนี้ เพราะเวลานั้นพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปกำลังเจริญรุ่งเรือง พระสงฆ์ลังกาในครั้งนั้นทรงพระธรรมวินัยรอบรู้พุทธวจนะวิเศษกว่าพระสงฆ์ประเทศอื่นๆ เป็นเหตุให้พระสงฆ์ไทย มอญ พม่า และเขมร พากันไปศึกษาพระศาสนาในลังกาทวีปเป็นอันมาก เมื่อพระสงฆ์ไทยกลับมายังได้ชักชวนพระสงฆ์ชาวลังกามาอยู่ในประเทศนี้ด้วย ชั้นแรกมาอยู่ทางเมืองนครศรีธรรมราช แล้วภายหลังขึ้นไปตั้งสำนักอยู่ในกรุงสุโขทัย และต่อไปจนถึงเชียงใหม่ ชาวประเทศนี้จึงได้รับแบบอย่างเจดีย์ลังกามาสร้างกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยนั้น รวมทั้งแบบอย่างพระพุทธรูปด้วย ข้อนี้มีหลักฐาน ด้วยพระพุทธรูปโบราณในประเทศนี้ ตั้งแต่ก่อนลังกาวงศ์เข้ามา ไม่มีทำเกตุมาลายาวเป็นเปลวเลย เพิ่งมีขึ้นในสมัยนี้เป็นครั้งแรก พระพุทธรูปที่มีเกตุมาลาเป็นเปลวนั้น เป็นแบบอย่างช่างลังกาเป็นผู้คิดขึ้นก่อน แปลกกว่าแบบอย่างพระพุทธรูปในประเทศอื่น




พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ทำเป็น ๓ ยุค

       ยุคแรก มักทำวงพระพักตร์กลมตามแบบพระพุทธรูปลังกา เช่นพระอัฏฐารสในวิหารวัดสระเกศบัดนี้ ซึ่งนำมาจากวัดวิหารทอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

       ยุคกลาง เมื่อฝีมือช่างเชี่ยวชาญขึ้น คิดแบบขึ้นใหม่ทำวงพระพักตร์ยาว พระหนุเสี้ยม เช่น พระร่วงที่พระปฐมเจดีย์และพระสุรภีพุทธพิมพ์ในพระอุโบสถวัดปรินายก พระพุทธรูปตามแบบยุคที่ ๒ นี้มีมากกว่ายุคแรก

       ยุคที่ ๓ หรือยุคหลังเห็นจะเป็นในรัชกาลพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งในตำนานกล่าวว่าเอาเป็นพระธุระบำรุงกิจในพระพุทธศาสนายิ่งกว่ารัชกาลก่อนๆให้เสาะหาช่างที่ฝีมือดี ทั้งในฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้มาประชุมปรึกษากัน ทรงสอบสวนหาหลักฐานพุทธลักษณะในคัมภีร์พระไตรปิฎกประกอบ คิดสร้างพระพุทธรูปเพื่อจะให้วิเศษที่สุดที่จะทำได้ จึงเกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เช่น พระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ ทำวงพระพักตร์รูปไข่ หรือทำนองผลมะตูมคล้ายแบบอินเดียเดิมแต่งามยิ่งนัก และแก้ไขพุทธลักษณะที่แห่งอื่นไปตามตำรา เช่นทำปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกันทั้ง ๔ นิ้วเป็นต้น พระพุทธรูปแบบนี้ทำกันแพร่หลายขึ้นไปจนข้างเหนือและลงมาข้างใต้ แต่ที่ทำได้งามเหมือนพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ซึ่งเป็นต้นตำรานั้นมีน้อย




             พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ พระพุทธชินราชได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งและยังเป็นพระพุทธรูปที่นิยมจำลองกันมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนชาวไทยศรัทธาและนิยมเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดองค์หนึ่งด้วย




            พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดาและพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๒

ลักษณะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

          พระพุทธรูปสมัยนี้ทำเกตุมาลายาว เส้นพระศกขมวดก้นหอย โดยมากไม่มีไรพระศก พระโขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระหนุเสี้ยม หัวพระถันโปน สังฆาฏิยาว มักมีปลายเป็น ๒ แฉกย่น ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเป็นพื้น ตอนกลางแอ่นเข้าไปข้างใน ผิดกับฐานเชียงแสนซึ่งโค้งออกมาข้างนอก ไม่ใคร่ทำบัว ถ้ามีบัวก็เป็นบัวหงายบัวคว่ำชนิดบัวฐานพระพุทธชินราช ทำเป็นปางต่างๆตามพระอิริยาบถ คือ
       ๑. ปางไสยา ทำทั้งด้วยโลหะและปูนปั้น
       ๒. ปางลีลา ทำด้วยศิลา โลหะและปูนปั้น
       ๓. ปางประทานอภัย มีทั้งยกพระหัตถ์ข้างเดียวและสองข้าง ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
       ๔. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ทำด้วยโลหะและปูนปั้น
       ๕. ปางถวายเนตร ทำด้วยโลหะ
       ๖. ปางสมาธิ ทำด้วยโลหะ ปางนี้มีน้อยทำแต่มารวิชัยเป็นพื้น






           ของดีวัดคลองชะโด หลวงพ่อสุโขทัย สุพรรณบุรี  หล่อหลวงพ่อสุโขทัย อายุ 800 กว่าปี หน้าตัก 25 นิ้ว  คณาจารย์นั่งพุทธาภิเษกโดยพระเกจิดัง 1. หลวงพ่อรวย วัดตะโก  2. หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว
3. หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน  4. หลวงพ่อสมบุญ วัดลำพันบอง 5. หลวงพ่อน่วม วัดโพธิ์ศรีเจริญ  6. หลวงปู่นาม วัดน้อยชมภู่  7. หลวงพ่อเฉลี่ย วัดธัญญวารี  8. หลวงพ่อสันต์ วัดพยัคฆาราม  9. หลวงพ่อวิชัย วัดหนองเพียร  เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2559  ณ วัดคลองฃะโด ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี  สั่งจองบูชาได้ที่ พระปลัดกิมอั้ว นิกกฺเลโส (เจ้าอาวาส)  ติดต่อ 084-4222899,090-4987354,0804278302  
เลขบัญชี วัดคลองชะโด ธ.กรุงศรี 680-1-07307-5


          วัตถุมงคล  1.รูปหล่อหลวงพ่อสุโขทัย  9 นิ้ว บูชาองค์ละ 2,999 บาท  5 นิ้ว บูชาองค์ละ 1,999 บาท  2.เหรียญสามกษัตริย์  รุ่นสุโขทัย มหาเศรษฐี ชุดละ 599 บาท  3.ปลาชะโดเงิน-ประชะโดทอง  รุ่นปลาชะโดเรียกทรัพย์ ชุดละ 199 บาท







 ศูนย์ข่าวท้องถิ่นออนไลน์  รายงาน
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น: