วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

วช.ผนึก 3 หน่วยงานหนุนวิจัยจัดการทรัพยากรน้ำ



               สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ลงนามความร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดงานวิจัย แก้ปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
   



                พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ  กรมชลประทาน เมื่อบ่ายวานนี้  (26 เม.ย.61) ระหว่าง  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  หรือ วช. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นการบูรณาการ การทำงานระหว่างภาครัฐและวิชาการในการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม




                  ศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการสนับสนุนงานวิจัยที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ว่า การบริหารจัดการน้ำมีความสำคัญต่อประเทศอย่างมาก ที่ผ่านมาทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้ส่งผลกระทบในหลายด้าน และรัฐบาลพยายามแก้ไขอย่างเป็นระบบ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาในรูปแบบของคณะกรรมการ โดยมี วช.ร่วมด้วย ซึ่งมีโครงการท้าทายไทยเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ได้สนับสนุนการวิจัยต่อยอด "โปรแกรมการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและทันเหตุการณ์ หรือ NARK 4.0"  และแอปพลิเคชัน WaterSMART ให้เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำ




              ด้านนางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก.ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยทั้งในเชิงนโยบายและเชิงพาณิชย์ ซึ่งการวิจัยเรื่องการจัดการน้ำ มีการใช้ทั้งในมิติน้ำแล้งและน้ำท่วม จนได้พัฒนาเป็น "โปรแกรม NARK4.0" และกรมชลประทานได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการการน้ำที่ศูนย์ฯ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในองค์ความรู้ดังกล่าว จึงได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้




                 รองศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า โครงการวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ เป็นการรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี และสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จนได้เป็น "โปรแกรม NARK4.0"




                ส่วนนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เนื่องจากการใช้ข้อมูลสถิติเพียงอย่างเดียวในการบริหารจัดการน้ำนั้นค่อนข้างเสี่ยง จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความแม่นยำยิ่งขึ้น และจากการที่กรมชลประทานทำงานร่วมกับนักวิจัยโครงการฯ ทำให้เกิดการต่อยอด "โปรแกรม NARK4.0" และแอปพลิเคชัน WaterSMART  ซึ่งมีการใช้งานจริงที่ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ




                ทั้งนี้ "โปรแกรม NARK4.0" เป็นเครื่องมือ ที่สามารถคาดการณ์ปริมาณฝน ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและวางแผน ตัดสินใจระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำได้ล่วงหน้า 12 เดือน ที่ระดับความแม่นยำมากกว่าร้อยละ 80  ขณะที่เกษตรกรสามารถใช้แอปพลิเคชัน WaterSMART ในการรับข้อมูล การคาดการณ์ปริมาณน้ำ หรือแผนการจัดสรรน้ำ เพื่อเป็นแนวทางวางแผนการทำเกษตรให้เหมาะสม และด้านนโยบาย ให้รัฐบาลสามารถใช้ในการกำหนดมาตรการพัฒนาหรือส่งเสริมผลผลิตภาคการเกษตรที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีความผันผวนรายฤดูกาล
 



                 พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ  โดยเฉพาะน้ำในภาคการเกษตร จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาฐานข้อมูลเทคโนโลยีให้แม่นยำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ





จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์  เครือข่ายประขาสัมพันธ์ วช.
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น: