วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561

นักวิจัยได้ประโยชน์คุ้มค่าจากอบรมภาคสนามของสมาคมนักวิจัยฯ



            นักวิจัยที่ร่วมเก็บข้อมูลภาคสนาม ณ สิบสองปันนา ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ของสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ยืนยันได้ประโยชน์คุ้มค่ามาก โดยเฉพาะวิธีการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้มีคุณภาพจากข้อมูลการสังเกต





            ดร.จินดารัตน์ ปีมณี อาจารย์ประจำสาขาการบัญชี คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะที่ร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการของฝ่ายฝึกอบรม สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย หลักสูตร ทักษะและศักยภาพสำหรับนักวิจัยในการวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเมืองท่องเที่ยวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน (บริเวณสิบสองปันนา) ระหว่างวันที่ 7-10 มีนาคมที่ผ่านมา  กล่าวผ่านทางรายการวิทยุศึกษา ว่า โครงการนี้มีผู้ร่วมอบรม 19 คน วันแรกเป็นภาคทฤษฎี โดยรองศาสตราจารย์ ดร.โยธิน แสวงดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นวิทยากรให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวิจัยเชิงคุณภาพ การเก็บข้อมูล และตรวจสอบข้อมูล ซึ่งก่อนลงภาคสนาม นักวิจัยหลายคนยังคิดหัวข้อวิจัยหรือเรื่องที่จะทำไม่ได้ เพราะไม่รู้จักสถานที่เก็บข้อมูลมาก่อน





          ทั้งนี้ คณะผู้อบรมได้ลงภาคสนามเก็บข้อมูลการวิจัย ตามที่วิทยากรแนะนำ โดยอาศัยการสังเกตพร้อมถ่ายรูปเก็บข้อมูลสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่ เนื่องจากข้อมูลบางอย่างที่ได้จากการสัมภาษณ์ไกด์ นักท่องเที่ยว หรือพ่อค้าแม่ค้า อาจเสี่ยงฝ่าฝืนกฎหมายจีน ดังนั้น การสังเกต ความเป็นอยู่ สถานที่ การเจริญเติบโตของบ้านเมืองและถ่ายรูปเก็บภาพ ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นำมาวิเคราะห์เป็นหัวข้อวิจัยหมู่ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งข้อมูลจากการสังเกตพบว่าสิบสองปันนาอยู่ระหว่างการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางธุรกิจ จึงวิเคราะห์ได้ว่า สิ่งที่จะตามมากับการมีรายได้เพิ่มขึ้น คือ ธุรกิจความงามและสุขภาพที่ขณะนี้ยังไม่มีการลงทุน นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อบรมเห็นภาพชัดเจนจากข้อมูลภาคสนาม จนเกิดแนวคิดอีกหลายประเด็นในงานวิจัย




            ดร.จินดารัตน์ ปีมณี ยืนยันว่า  การร่วมโครงการอบรมหลักสูตรดังกล่าวของสมาคมนักวิจัยฯ  ถือว่าได้ประโยชน์คุ้มค่ามาก เพราะได้ความรู้ในการทำวิจัยเชิงคุณภาพ และวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยเฉพาะวิธีการใช้ข้อมูลเชิงสังเกตอย่างเดียวในการพัฒนาให้เป็นงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพ อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองด้านงานวิจัยกับผู้ร่วมอบรมจากหลากหลายสถาบันฯ ตลอดจนได้รับความรู้และการชี้แนะจากวิทยากรเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลงานสามารถตีพิมพ์ในวารสารที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะทำให้ผู้อบรมได้เป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพมืออาชีพที่เข้าใจวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในต่างประเทศ พร้อมบูรณาการในด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณนักวิจัย





             ด้าน ดร.ญาณกร โท้ประยูร ประธานอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรม สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากความสำเร็จของหลักสูตรดังกล่าว ทำให้ฝ่ายฝึกอบรมฯ เตรียมจัดหลักสูตรการเก็บข้อมูลภาคสนามทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป ผู้สนใจติดตามได้ที่สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย หรือ www.ar.or.th


 


จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ อนุกรรมการฝึกอบรม
สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย
เรวัติ  น้อยวิจิตร  Hub Admin rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น: