วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

วช.พร้อมรับแนวคิดวิพากษ์ยุทธศาสตร์เติมพฤตพลังให้ผู้สูงวัย


นักวิชาการร่วมวิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยเติมพฤตพลังผู้สูงวัย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พร้อมรับข้อเสนอแนะเพื่อปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการก้าวทันเทคโนโลยีของผู้สูงวัย


วันนี้ (20 ก.ย.59) นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมวิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพสังคมสูงวัย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.จัดขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิชาการและผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้สูงวัยเข้าร่วมประมาณ 150 คน เนื่องจากช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้โครงสร้างของประชากรทั้งประเทศเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัย และส่งผลต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ การจ้างงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพและสังคมของประเทศ ดังนั้นประชากรสูงวัยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของกรอบนโยบายภาวะพฤตพลัง ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้สูงวัยที่มีพลังทั้งร่างกายและจิตใจ โดย วช.ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพสังคมสูงวัย ให้เกิดภาวะพฤตพลัง และยังประโยชน์สำหรับประเทศไทย รวม 3 ยุทธศาสตร์ 26 กลยุทธ์ พร้อมตั้งเป้าให้ประชากรสูงวัยของไทยมีสุขภาพดี มีความมั่นคง มีศักดิ์ศรี และมีส่วนร่วมในสังคม


ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ประธานคณะผู้ทรงคุณให้คำปรึกษาในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า การเปิดเวทีวิพากษ์ครั้งนี้ เป็นการระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำมาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ โดยเห็นว่า ผู้สูงวัยทำงานอะไรก็ได้หลังเกษียณที่ไม่ใช่ผู้บริหาร และต้องเรียนรู้การออมเพื่อการลงทุน ซึ่ง วช.ควรจัดการความรู้งานวิจัยเรื่องนี้ที่เคยทำมาแล้วว่า ได้ผลอย่างไร ใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการวิจัยซ้ำซ้อน และนักวิจัยต้องระบุประเด็นสำคัญที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ได้ด้วย ที่สำคัญคือปัจจัยความสำเร็จ คือการหานักวิจัยเรื่องนี้ค่อนข้างยาก


ด้านผู้เข้าร่วมประชุมต่างให้ข้อเสนอแนะอย่างหลากหลาย เช่น การจัดหาอาชีพให้ผู้สูงวัยอย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกาย การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับด้านสุขภาพของผู้สูงวัย การจัดทำระบบสุขภาพให้เข้มแข็งในระดับชุมชน ให้รัฐจัดทำเงินออมเพื่อจ้างผู้สูงวัยหลังเกษียณ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้สูงวัยเรียนรู้และมีส่วนร่วมในเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวทันโลกดิจิทอล โดยเห็นว่างานวิจัยต่าง ๆ ควรเข้ามามีบทบาทในยุทธศาสตร์เติมพฤตพลังให้ผู้สูงวัย และให้เกิดภาพรวมในระดับประเทศด้วย

นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. กล่าวในตอนท้ายว่า เนื่องจากผู้เข้าร่วมวิพากษ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านนี้ จึงได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มเติมด้านเทคโนโลยีดิจิทอล การสื่อสารกับสังคม การพัฒนาบุคลากรดูแลผู้สูงวัย การเพิ่มภาคีเครือข่ายที่สนใจเกี่ยวกับผู้สูงวัย ซึ่ง วช.จะนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และจะนำไปจัดทำกรอบวิจัยรายปีในการทำแผนงานโครงการต่อไป




จำนงค์ ศรัณยพิพัฒน์ เครือข่ายประชาสัมพันธ์ วช.
   เรวัติ น้อยวิจิตร   นสพ.พลังชน   rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น: