วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วช.ลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน : ด้านพลาสติกชีวภาพ



สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน : ด้านพลาสติกชีวภาพ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2559 เวลา 10.45 – 12.15 น. ณ เวที Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชัน (โซนนิทรรศการ) ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นประธานในพิธี










เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “สำหรับวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย ความร่วมมือการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อทดสอบตลาดตามความต้องการของภาคเอกชน ภายใต้โครงการ “การทดลองผลิตและประยุกต์ใช้ถ้วยไอศครีมจากพลาสติกชีวภาพ” ระหว่าง วช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด” โดย วช. ภายใต้การบริหารทุนโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) ได้ให้ทุนสนับสนุนวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพ ประจำปีงบประมาณ 2558 โครงการวิจัย “การทดลองผลิตและประยุกต์ใช้ถ้วยไอศครีมจากพลาสติกชีวภาพ” ที่มี ศาสตราจารย์ ดร.รัตนวรรณ มกรพันธุ์ นักวิจัยในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย โดยความร่วมมือด้านการวิจัยและโจทย์วิจัยจาก บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เพื่อทดลองผลิตถวยไอศครีมจากพลาสติกชีวภาพให้ตรงตามความต้องการของภาคเอกชน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้






นอกจากนี้ยังได้ลงนาม ความร่วมมือการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพระดับปลายน้ำ ระหว่าง วช. กับ บริษัท แพนดิท โปรดักส์ จำกัด เนื่องจาก วช. ได้ให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และได้ผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่การวิจัยระดับปลายน้ำยังพบปัญหา/อุปสรรคเกี่ยวกับการออกแบบแม่พิมพ์และการขึ้นรูปพลาสติกชีวภาพ ทำให้การวิจัยไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่ และพบว่าบริษัท แพนดิท โปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและจัดสร้างแม่พิมพ์ และยินดีพัฒนา สร้าง




และปรับปรุงแม่พิมพ์ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ และเพื่อให้โครงการวิจัยด้านพลาสติกชีวภาพเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเป้าประสงค์ของ วช. ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง และจะส่งผลกระทบต่อประเทศทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึง วช. ยังคงมีความหวังที่จะให้ภาคเอกชนไว้ใจและร่วมลงทุนเพื่องานวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น”


นางสาวอนงค์วดี จีระบุตร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 
 เรวัติ น้อยวิจิตร   hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น: