วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558

สมุทรสาคร อบจ.เปิดโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อม รุ่นที่ 8 ประจำปี 2558

           



          นายบรรจง สุทธิคมน์ รองนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร   รุ่นที่ 8  ะหว่างวันที่ 20 เมษายน – 8 พฤษภาคม พ.ศ. พ.ศ. 2558  ณ ห้องประชุมสาครบุรี อบจ.สมุทรสาคร โดยมี นายธนวัฒน์ ทองโต ประธานคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม  สภา อบจ.สมุทรสาคร รับผิดชอบโครงการ










             วันที่ 20 เมษายน  2558 เวลา 10.00 น.  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร  โดย นายธนวัฒน์ ทองโต ประธานคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม  สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร
 จัดโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร รุ่นที่ 8  ะหว่างวันที่  20 เมษายน – 8 พฤษภาคม พ.ศ. พ.ศ. 2558  ณ ห้องประชุมสาครบุรี อบจ.สมุทรสาคร  มี  คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง นำโดย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร  และ  นักศึกษา คณาจารย์ จาก คณะสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองคณบดี ฯ งานนี้ได้รับเกียรติจาก  นายบรรจง สุทธิคมน์ รองนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีฯ
              









 หลักการและเหตุผล


        สืบเนื่องจากการทวีความรุนแรงของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสมุทรสาครที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครนับได้ว่าเป็นจังหวัดที่จัดอยู่ในเขตควบคุมมลพิษ และเป็นเมืองชายทะเลและแม่น้ำ มีแม่น้ำท่าจีนเป็นแม่น้ำสายหลัก มีคลองสาขาประมาณ 170 คลอง มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นจังหวัดที่รองรับความเจริญและการขยายตัวจากกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เปรียบเสมือนครัวของโลกจึงส่งผลให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เกิดการอพยพแรงงานต่างด้าวเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม และมีการอุปโภคและบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง การพัฒนาของจังหวัดในด้านต่างๆ ล้วนก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศและกลิ่น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาครอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาขยะมูลฝอย การบริการเก็บขนขยะมูลฝอยยังไม่สามารถกระทำได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากปริมาณขยะในแต่ละวันมีจำนวนมาก นักวิชาการประเมินแล้วพบว่า ปริมาณขยะทั้งจังหวัดสูงถึง 938 ตัน และมีขยะตกค้างวันละ 100 ตัน ส่วนสถานที่รับเก็บขยะพบบางแห่งปิดบ่อขยะ บางแห่งขยะใกล้ล้น บางแห่งยังไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เนื่องจากยังใช้วิธีเทกองกลางแจ้งและเผาทิ้งบางส่วน การเกิดปัญหาด้านน้ำเสีย อาทิ น้ำเสียจากแม่น้ำท่าจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนมีชุมชนหนาแน่น มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 4,000 โรง มีโรงงานและฟาร์มหมู มีการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งต้นน้ำตลอดทั้งจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม นอกจากนั้นยังมีขยะมลพิษ สารพิษตกค้างไหลมาทับถม ส่งผลถึงพื้นดินและน้ำเน่าแบบถาวร ตลอดระยะเส้นทางแม่น้ำ และคลองต่างๆ ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองส่วนใหญ่เน่าดำจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสีย ดังนั้น เขตสมุทรสาครซึ่งเป็นปลายน้ำ จึงถือได้ว่ามีน้ำเสียตลอดทั้งปี นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาครยังประสบปัญหาป่าชายเลนเสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากคลื่นลมและกระแสน้ำที่พัดเข้าหาชายฝั่งอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน ทำให้ป่าชายเลนถูกทำลาย สภาพป่าเหลืออยู่บ้างเพียงจำนวนน้อย ตลอดจนยังส่งผลต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม เพราะจังหวัดสมุทรสาครมีภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง น้ำทะเลหนุน จึงประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง

       จากสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า หลายฝ่ายได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งมีการวางแผนด้านโครงสร้างการจัดการ การวางแผนนโยบายเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัด ซึ่งยังคงมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน และเน้นการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555–2559) อันประกอบด้วยความร่วมมือ 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งมีการส่งเสริมด้านการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ของตนเองในการเป็นพลเมืองอาเซียน สร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันเป็นพื้นฐานสำคัญ ตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติ และความรู้ให้ชุมชนเกิดวิถีการผลิตและการบริโภคตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลอันเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะนำไปสู่การพัฒนาทางเลือกใหม่ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครได้ในอนาคต

       การจัดโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับเยาวชนเพื่อเป็นพื้นฐานให้เกิดความตระหนักต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน โดยเฉพาะการฝึกฝนทักษะให้เยาวชนได้รู้จักคิดวิเคราะห์หาเหตุผล ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครได้ในเบื้องต้น รูปแบบกิจกรรมจะเน้นการเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมใน 4 ด้าน อันได้แก่ มลพิษทางอากาศและกลิ่น ขยะมูลฝอย มลพิษทางน้ำ และการจัดการป่าชายเลน โดยการดำเนินงานโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมขององค์การบริหารจังหวัดสมุทรสาคร รุ่นที่ 8 นี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2558 รวมระยะเวลา 19 วัน เป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้นผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งเนื้อหาการสอน การฝึกทักษะจากการทดลอง พร้อมทั้งการปฏิบัติจริง มีการศึกษาดูงานนอกสถานที่ และการทำโครงงานกลุ่มด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จะมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาร่วมกำหนดเนื้อหาทางวิชาการและวิธีการจัดอบรมให้กับเยาวชน โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายและแกนนำของเยาวชนในการสื่อสารไปสู่ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนท้องถิ่นให้ร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้เยาวชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน
  2. เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีจิตสำนึกในการร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. เพื่อให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายและแกนนำในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาคร

กลุ่มเป้าหมาย

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 5 ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ จำนวน 80 คน

คุณสมบัติของผู้สมัคร

  1. เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 5 ของโรงเรียนภายในจังหวัดสมุทรสาคร
  2. ได้รับคะแนนเฉลี่ยสะสมของปีการศึกษาที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 2.50
  3. หากคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า 2.50 จะต้องเป็นผู้มีจิตอาสาด้านสิ่งแวดล้อม

รูปแบบการจัดการเรียนการสอน

  1. การบรรยายและทำกิจกรรมในห้องเรียน และการศึกษาดูงานภาคสนาม
  2. การฝึกปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์และในการฝึกปฏิบัติการภาคสนาม
  3. การทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้การจัดการและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์จริง
  4. การนำเสนอแนวคิดในรูปแบบโครงงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครเป็นสำคัญ

องค์กรจัดงาน

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร

สถานที่ดำเนินการ

  1. สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร
  2. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. สถานที่ศึกษาดูงานที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาประกอบการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อ

ระยะเวลาดำเนินการ

วันที่ 20 เมษายน – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เยาวชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบัน
  2. เยาวชนได้รับการปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในการร่วมรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. เยาวชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสามารถสร้างเครือข่ายและแกนนำในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสมุทรสาครได้
  4. เยาวชนสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทำให้ห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุขทั้งปวง

การประเมินผลสำเร็จโครงการ

  1. Pre-Post Test เพื่อประเมินความรู้ทางวิชาการของนักเรียนทั้งก่อนและหลังการฝึกอบรม
  2. แบบประเมินผลกิจกรรมวิชาการ และฝึกปฏิบัติการภาคสนามรายหัวข้อ
  3. แบบประเมินผลกิจกรรมทัศนศึกษา
  4. แบบประเมินผลการจัดโครงการโดยภาพรวม




ยุทธนัย  อังกิตานนท์  บรรณาธิการ นสพ.เสียงประชา  ข่าว
 เรวัติ น้อยวิจิตร   hub admin rewat.noyvijit@hotmail.com  08-1910-7445

ไม่มีความคิดเห็น: