วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สนช. จัดโครงการ “ สนช.พบประชาชน ” เชิญสื่อทั่วประเทศร่วมงาน


             ‘สุรชัย’ หวังรธน.ใหม่อยู่ถาวร ขอทุกฝ่ายร่วมมือแก้ขัดแย้ง สนช.จัดโครงการ ‘สนช.พบประชาชน’ ด้าน ‘ไพบูลย์’ เผยไอเดียเพิ่มองค์กรตรวจสอบภาคปชช. 77 จว.

                   22 พ.ย.57 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้จัดโครงการ “สนช.พบประชาชน” โดยมีผู้แทนเครือข่ายผู้นำประชาธิปไตยวุฒิสภา และสื่อมวลชนจากจังหวัดต่างๆ จำนวน 300 คนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับทราบถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและแนวทางการทำงานของสนช.


 
                   นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1ได้กล่าวเปิดการสัมมนาว่า สนช.ต้องการสร้างความรู้ ความเข้าใจและเผยแพร่บทบาทของ สนช.ให้กับประชาชนทุกคนได้รับรู้แนวทางการทำงานและการเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ความต้องการของตนเอง แล้วร่วมกันคิดหาแนวทางผลักดันการเมืองการปกครองของไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง การจัดโครงการในวันนี้ ตนหวังว่าจะเป็นโอกาสดีที่สนช.จะได้พบปะกับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด ได้ร่วมกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและร่วมตอบประเด็นข้อซักถามต่างๆเพื่อให้ทุกคนได้นำไปถ่ายทอดในพื้นที่ของตนเองต่อไป ให้ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้


 
                   นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดจากปัญหาต่างๆที่สะสมมาอย่างยาวนาน เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธี จึงเกิดการขัดแย้งกัน วันนี้เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่น่าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยมา 80 กว่าปี ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับถือเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมาก หวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศไทย ซึ่งประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนต้องไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มาจากการผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือแค่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังการเลือกตั้งต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ประชาชนต้องร่วมมือกัน



 
‘ไพบูลย์’ เผยเพิ่มองค์กรตรวจสอบภาคปชช. 77 จว.
  
                   นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใชัอำนาจรัฐ ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่าในการประชุมอนุกมธ.ฯวันจันทร์ที่ 24 พ.ย. จะมีการพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดเป็นกรอบสาระสำคัญต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้นในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น ตนมีแนวคิดจะใช้ 3 ส่วนหลัก คือ 1.องค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดไว้ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น, 2.ส่วนของผู้แทนปวงชนชาวไทย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตรวจสอบในประเด็นนโยบายรัฐบาล,โครงการรัฐบาลที่กระทบกับภาพกว้าง ซึ่งให้สิทธิ์ส.ส., ส.ว. สามารถตรวจสอบความผิดรัฐมนตรีและยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมได้โดยตรง และ 3.ภาคประชาชนโดยจัดตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน จำนวน 77 จังหวัด ให้ตรวจสอบในส่วนของท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และให้อำนาจยื่นฟ้องศาลหรืออัยการประจำจังหวัดได้
 
                   นายไพบูลย์กล่าวด้วยว่าขณะที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือกระบวนการสรรหานั้นเป็นสิ่งอนุกมธ.พิจารณาร่วมด้วย โดยประเด็นสำคัญคือ องค์กรอิสระ เช่น กกต. ไม่ใช่องค์อำนาจธิปไตยที่ 4 ดังนั้นกระบวนการให้โทษ หรือ ให้คุณ จึงไม่ถือเป็นอำนาจขององค์กรอิสระ จึงไม่ควรมีหน้าที่วินิจฉัยความผิดเป็นต้น อย่างไรก็ตามประเด็นที่นำเสนอดังกล่าวจะถูกยกเข้าสู่ที่ประชุมอนุฯ เพื่อพิจารณากำหนดเป็นแนวทางที่นำไปยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป เบื้องต้นอาจมีความเห็นที่แตกต่างจากนี้


 
 
สนช.กลุ่ม 40 ส.ว. ย้ำอย่าปล่อยกลุ่มการเมืองเดิมกลับสู่เวทีการเมืองไทยอีก
 
 
                   ในการสัมมนาโครงการ”สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบประชาชน ซึ่งมีผู้แทนเครือข่ายผู้นำประชาธิปไตยวุฒิสภา และสื่อมวลชนจากจังหวัดต่างๆ จำนวน 300 คนเข้าร่วมโครงการ นายสมชาย แสวงการ สนช.ได้กล่าวเสวนาหัวข้อ “หน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการดำเนินงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”ว่า วัฒนธรรมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของยุโรป ประชาชนของเขาแพ้ถูกสังหารมาโดยตลอด พอมีประชาธิปไตยแล้วประชาชนของเขาจึงหวงแหนมาก แตกต่างจากประเทศไทยที่ต้องการเพียงแค่การเลือกตั้ง ดังนั้นที่มาของสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่จึงมีความสำคัญมาก ต้องอย่าปล่อยให้กลุ่มบุคคลเดิมกลับเข้าสู่อำนาจได้อีก
 
                   นายตวง อันทะไชย สนช. กล่าวว่า การปฏิรูปจะเป็นไปตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ว่าด้วยการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน และหน้าตาของประเทศหลังปฏิรูปจะเป็นไปมาตรา 35 ที่จะมีกลไกป้องกันกำกับป้องผู้กระทำการทุจริต ห้ามทำลายลบล้างหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญวางไว้ ซึ่งจะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาห้ามแก้ไข ประชาธิปไตยในโลกนี้ไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นที่คนไทยต้องออกแบบประชาธิปไตยให้เหมือนประเทศแถบยุโรป นี่จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องต่อสภาพสังคมไทย เราต้องตัดรองเท้าของเราให้เข้ากับเท้า ไม่ใช่ตัดเท้าให้เข้ากับรองเท้า
 
 
                  ยุทธนัย  อังกิตานนท์  บรรณาธิการข่าวท้องถิ่น นสพ.เสียงประชา  09-4813-3568

ไม่มีความคิดเห็น: