วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

กษัตริย์เกษตร และนักพัฒนาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก







              นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่น เพื่อบำบัดความทุกข์ยากและเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งนับเป็นพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ 


            พระองค์ทรงระลึกเสมอว่าทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์จึงทรงคิดค้นหาแนวทางการพัฒนาด้วยพระวิริยอุตสาหะเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทุกหมู่เหล่าทั่วราชอาณาจักร อันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทอดทิ้งประชาชน







            ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทั่วโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบันจะเต็มไปด้วยสิ่งประดับที่สวยสดงดงามและราคาแพง แต่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลับเต็มไปด้วยบ่อปลา นาข้าว ฝูงโค โรงสี และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานทางการเกษตร ทรงสนพระราชหฤทัยและให้ความสำคัญในอาชีพการเกษตรเพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรกร




            จึงเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าพระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์เกษตร” ปกเกศคุ้มเกล้าชาวสยามด้วยความยิ่งใหญ่แห่งพระราชกรณียกิจที่อุทิศพระองค์ทรงงานเพื่อราษฎร ประยุกต์ศาสตร์ต่างสาขาเพื่อพัฒนาการเกษตรด้วยพระวิริยะอุตสาหะอย่างต่อเนื่อง ทรงสืบสานงานแผ่นดินด้วยความมุ่งมั่น แน่วแน่ ไม่หวั่นไหวท้อแท้แก่อุปสรรคนานา และปัญหาสารพันที่บั่นทอนพระราชหฤทัย ทรงทำให้ทวยราษฎร์ทั้งหลายได้ประจักษ์ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลแห่งงาน และการมีชีวิตที่ยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเหนือสิ่งอื่นใด” ซึ่งก็คือการยึดแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันนั่นเอง







            โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ ในพื้นที่ทั่วประเทศและอีกหลายประเทศที่ขอพระราชทานความช่วยเหลือมานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงเลือกใช้วิธีการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นขั้นเป็นตอนประหยัดด้วยมรรควิธีที่นุ่มนวล กระชับและเรียบง่ายตลอดจนสะดวกต่อการยอมรับ โดยทรงวางโครงการอย่าง สอดคล้องกับภูมิสังคมของแต่ละแห่งหน พร้อมทั้งมีการบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว คือ ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการได้ ณ ที่แห่งเดียวอย่างครบวงจรและสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง


             ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการทดลองวิจัยกว่า 700 เรื่อง ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งที่ทรงให้จัดตั้งขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้าวิจัย ตลอดจนแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎร พร้อมนำผลสำเร็จของการพัฒนาออกสู่พื้นที่ของเกษตรกรโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างพอมี พอกิน และพอเพียงควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ







              (สำนักงาน กปร.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานแผนงานและความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามพระราชดำริ และทุกครั้งยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นมาประชาชนทั่วทั้งประเทศประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลักการทรงงานและปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง ได้เข้ามาเป็นเข็มทิศชี้นำให้ผู้คนทั่วทั้งแผ่นดินสามารถพลิกฟื้นคืนความเป็นอยู่พร้อมใช้เป็นรากฐานในงานอาชีพพัฒนาการผลิตเพื่อการยังชีพไปจนถึงเชิงพาณิชย์ จนสามารถเงยหน้าขึ้นมาสู้ชีวิตอย่างมีอนาคตแทบทุกครั้งไป อันหมายรวมถึงช่วงขณะนี้ของสภาพความเป็นจริงในสังคมไทยด้วยเช่นกัน


             นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างล้นพ้นที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถน้ำพระราชหฤทัย พระเมตตาตลอดจนการทรงงานอย่างหนักตรากตรำอย่างต่อเนื่องและทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขและทรงขจัดความทุกข์ยากเดือดร้อนลำเค็ญให้กลับกลายเป็นความอยู่ดีมีสุขแก่ทวยราษฎร์ มิใช่เพียงขจรไปทั่วแผ่นดินไทยหากยังเป็นที่ทราบและประจักษ์ไปทั่วโลกจนได้รับพระราชสมัญญาว่าทรงเป็นกษัตริย์เกษตรและนักพัฒนาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก 





          จากเว็บไซต์ konthairakkan.com)

         
         เรวัติ  น้อยวิจิตร  สุพรรณบุรีนิวส์  rewat.noyvijit@hotmail.com  081-9107445

ไม่มีความคิดเห็น: