วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มหาวิทยาลัยคริสเตียน ผลสำรวจ-วัยรุ่นเสพติดไอที



การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการ(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวัยรุ่น
โดย สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน
-----------------------------------------------------

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา  วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียน เปิดเผยว่า สำนักวิจัยได้สำรวจ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการเสพติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวัยรุ่น  โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม จำนวน 1,280 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นชายร้อยละ 58.4 และหญิงร้อยละ 41.6  มีอายุ 18-30 ปี มากที่สุด ร้อยละ 41.6 สถานภาพโสด มากที่สุด ร้อยละ 47.3  สถานภาพสมรส 46.8  นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด ร้อยละ 97.4  รองลงเป็นมาศาสนาคริสต์ ร้อยละ 2.6 ระดับการศึกษา
                ปริญญาตรีมากที่สุด ร้อยละ 39.7 รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ร้อยละ 20.3  เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ มากที่สุด ร้อยละ 22.1 และรองลงมาเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 21.7 และเจ้าของกิจการ/ค้าขาย/มีธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 20.1  
                ประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.5  มีความคิดเห็นว่าสถานการณ์ การ(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวัยรุ่นเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมาก รองลงมา ร้อยละ 32.7  มีความคิดเห็นว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงปานกลาง 
                กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.3 คิดว่า การเ(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวัยรุ่นเกิดจากการทำตามเพื่อน รองลงมาร้อยละ 53.3 คิดว่าเกิดจากขาดความอบอุ่นในครอบครัว ร้อยละ 52.0   มีความเห็นว่าเกิดจากขาดความรู้ในการใช้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.3  ระบุว่ามีบุคคลในครอบครัวที่เป็นวัยรุ่น(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 
               กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.1 มีความคิดเห็นว่าวัยรุ่นมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม คือ การใช้โทรศัพท์มือถือพูดคุยกันมากเกินจำเป็น ร้อยละ 50.8 มีความคิดเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมคือการเล่นการพนันออนไลน์
              กลุ่มตัวอย่างร้อยละ  55.0 มีความคิดเห็นว่าวัยรุ่นควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการค้นคว้าข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียน  รองลงมาร้อยละ 53.0  มีความคิดเห็นว่า ควรใช้ในการอ่านข่าวสารและติดต่อกับเพื่อนเฉพาะที่จำเป็น
              กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.0 มีความคิดเห็นว่าการ(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวัยรุ่นส่งผลเสียต่อวัยรุ่น คือ สัมฤทธิผลทางการเรียนตกต่ำ รองลงมาร้อยละ 48.6  มีความคิดเห็นว่า ส่งผลให้ถูกล่อลวง/ถูกทำร้ายหรือถูกข่มขืนได้
              กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.7  มีความคิดเห็นว่าวิธีการแก้ไขปัญหาวัยรุ่น(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ ควรกำหนดบทลงโทษการเผยแพร่สื่อลามก อนาจาร และรองลงมาร้อยละ 49.5 มีความคิดเห็นว่าควรควบคุมและกวดขันการเล่นการพนันออนไลน์  
             กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 53.4 มีความคิดเห็นว่าสถานศึกษา/ ครูอาจารย์ ควรรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหาวัยรุ่น(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองลงมาร้อยละ 53.4  มีความคิดเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขปัญหา  และร้อยละ 53.3  มีความคิดเห็นว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรร่วมรับผิดชอบ 
              ส่วนความคิดเห็นต่อแนวทางการป้องกันปัญหาการ(เสพ)ติดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของวัยรุ่น  พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.3 มีความเห็นว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี  และรองลงมาร้อยละ 51.6 เห็นว่า  ครู อาจารย์ ควรเป็นแบบอย่างที่ดี 
              ในปัจจุบัน สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ มีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งที่เป็นคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีโทรคมนาคมระบบมีสายและไร้สาย รวมทั้งระบบสื่อมวลชน  วัยรุ่นจึงควรได้รับการดูแลเอาใจใส่และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องและเหมาะสมจากผู้ปกครอง  และครูอาจารย์จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสารเทศอย่างถูกต้อง มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ เพื่อให้วัยรุ่นไทยสามารถควบคุมดูแลตนเองได้และไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดีที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาบิดเบือนทำให้เด็กและเยาวชนหลงผิด เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายสูงและนำไปสู่การเสียอนาคต

สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยคริสเตียน

ไม่มีความคิดเห็น: